เมื่อลูกน้อยอยู่ในอันตราย
เพลิงไหม้ แค่ชื่อก็ดูน่ากลัวแล้ว ก็เพราะไฟเป็นสิ่งที่สามารถเผาผลาญบ้าน และทรัพย์สินให้วอดวายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง และจะยิ่งน่ากลัวขึ้นอีก ถ้าในเหตุการณ์นั้นมีเจ้าตัวเล็กของเราอยู่ใกล้ๆ เพราะฉะนั้นมาหาวิธีป้องกันกันเถอะค่ะ
ต้นเหตุเพลิงไหม้
- เผอเรอ ความประมาทเป็นสาเหตุอันดับแรกของเหตุการณ์ไฟไหม้หลายๆ เหตุการณ์ เช่น ไม่ดับบุหรี่ก่อนทิ้งลงพื้น จุดธูปหรือเทียนไหว้พระไว้ เป็นต้น
- อุบัติเหตุเป็นเหตุ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร เพราะใช้งานมากจนเกินไป รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกิดการชำรุดแล้วไม่ได้รับการซ่อมแซม
- เด็ก...ซุกซน ก็เพราะเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้จักถึงอันตรายของเพลิงไหม้ว่าร้ายแรงแค่ไหน และสิ่งของบางชนิดก็มีทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน เช่น ไม้ขีดไฟหรือไฟแช็ก เมื่อใช้เสร็จแล้วควรเก็บไว้ในที่ที่ห่างมือเด็ก
ช่วยเหลือลูกยามเกิดเพลิงไหม้
1. ต้องตั้งสติให้ดีรีบช่วยเหลือลูกก่อน โดยไม่ลืมที่จะติดผ้าขนหนู หรือผ้าห่มที่อยู่ใกล้มือเอาไว้ห่อตัวเด็ก จากนั้นให้รีบหาทางออกจากเปลวไฟให้เร็วที่สุด
2. เมื่อหาทางออกเจอแล้ว แต่พบว่าบริเวณทางที่จะฝ่าไปนั้น มีควันไฟเต็มไปหมด ให้ก้มตัวหรือมอบให้ต่ำที่สุด เพราะควันไฟมักจะลอยขึ้นด้านบน
3. เมื่อออกจากเปลวเพลิงมาได้แล้ว รีบโทร.แจ้งหน่วยดับเพลิงให้มาที่จุดเกิดเหตุด่วน
4. ในกรณีที่เปลวเพลิงและควันไฟหนาทึบมากจนหาทางออกไม่ได้ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่พยายามหาเด็กหรือคนที่ติดอยู่ข้างในมารวมอยู่ในห้องเดียวกัน โดยปิดประตูเอาไว้ และเปิดหน้าต่างทุกบานออกเพื่อตะโกนขอความช่วยเหลือ
5. ถ้าที่พักอาศัยอยู่ในตึก เช่น คอนโดฯ อพาร์ตเมนท์ ให้ใช้บันไดหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้เด็ดขาด
ป้องกันลูกไกลจากเพลิงไหม้
1. ควรมีเครื่องมือดับเพลิง อุปกรณ์ตัดไฟอัตโนมัติไว้ประจำบ้าน และติดตั้งไว้บริเวณประตูทางออก หรือที่ที่เห็นได้ชัดเจน โดยต้องสอนให้เด็กรู้ว่า เครื่องดับเพลิงเอาไว้ใช้ดับไฟ ที่สำคัญต้องเข้าใจวิธีการใช้งาน และหมั่นเช็กเครื่องให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
2. ก่อนออกจากบ้านหมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้า และปิดสวิตซ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้น เพื่อป้องกันและให้ลูกเห็นจนเคยชินเป็นนิสัย
3. เมื่อทำครัวเสร็จทุกครั้ง อย่าลืมตรวจสอบว่า ปิดวาล์วแก๊สหรือยัง
4. ปลั๊กไฟควรให้อยู่ตำแหน่งสูงพ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแหย่นิ้ว หรือสิ่งของจนเกิดไฟลัดวงจร หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันปิดไว้
หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือพบเห็นเพลิงไหม้ โทร.แจ้ง 199, 191 หรือศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง โทร. 0 2267 7777
ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 9 ฉบับที่ 97 พฤศจิกายน 2546 |